พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่บนถนนศรีจันทร์ ในย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองขอนแก่น เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเงินตราไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
อาคารพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เดิมเป็นอาคารสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2511 จนหมดสัญญาเช่าที่ราชพัสดุใน พ.ศ. 2560 กรมธนารักษ์จึงปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเงินตราไทย โดยเฉพาะเงินตราท้องถิ่นของภาคอีสาน ซึ่งเป็นแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจการค้าและสังคมของจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยตั้งแต่อดีตกับปัจจุบัน
นิทรรศการ “นาคา ผู้คน และเงินตรา จากตำนานสู่เรื่องราวบนแผ่นดินอีสาน”
เดินทางย้อนเวลาไปใน “โลกของเงินตรา” ที่เชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยผ่าน “นาค” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนอีสาน ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาสมบัติมีค่าในทุกยุคทุกสมัย และ ภูมิปัญญางานโลหกรรม “ขุมทรัพย์” มรดกแห่งภูมิปัญญาของชาวอีสานที่สืบทอดมานานนับพันปี จุดกำเนิดของการค้นพบโลหะสำริดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน สืบต่อมาถึงยุคของอาณาจักรล้านช้าง การค้าขายกับชุมชนต่าง ๆ ทำให้เกิดการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน “เจ้าเมือง” คือมีผู้อำนาจผลิตเงินตรา คือ “เงินฮ้อย” “เงินลาด” ซึ่งเป็นเงินตราของอาณาจักรล้านช้าง จนเมื่อเข้าสู่ยุคสยามใหม่ “ข้าหลวงประจำมณฑล” คือตัวแทนของการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้มีการนำเหรียญกษาปณ์ออกใช้ และเงินตราท้องถิ่นหมดสิ้นไป เงินตรายังคงมีพัฒนาการทั้งด้านวัสดุ รูปแบบ และเทคนิคการผลิตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมมาทุกยุคสมัย
นิทรรศการ “เล่าเรื่องเมืองขอนแก่น”
บอกเล่าประวัติศาสตร์ ของเมืองขอนแก่นตั้งแต่ยุค ๒๕๐๐ ซึ่งภาครัฐได้กำหนดให้ ขอนแก่นเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ขอนแก่นมีการพัฒนาโดยภาครัฐเป็นอย่างมาก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นรากฐานการพัฒนาของเมืองขอนแก่นมาถึงปัจจุบัน
Cr:รูปภาพ เพจfacebook พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น